3 คำถาม 3 คำตอบ เพื่อรู้จัก KU-AAP ให้ดีขึ้น

3 05 2021

1. KU-AAP คืออะไร

KU-AAP หรือ KU Africa-Asia Programme เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างภูมิภาคแอฟริกา-เอเชีย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมการทำวิจัยที่เกี่ยวข้อง การเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือของสถาบันการศึกษาระหว่างสองภูมิภาค และพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แอฟริกา-เอเชีย ในอนาคต

2. KU-AAP มีที่มา ที่ไปอย่างไร

ความริเริ่มในการจัดตั้ง KU-AAP นั้น เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2018 ในการประชุมวิชาการแอฟริกา-เอเชีย ณ กรุงดาร์ เอส ซาลาม สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ซึ่งได้มีการจัดวงอภิปรายทางวิชาการ (panel discussion) ในหัวข้อ ‘Three Decades of Thai-African Relations through Agricultural Exchange Programme: Towards Sustainable Development’ หรือ ‘สามทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา ผ่านโปรแกรมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยผู้ที่เข้าร่วมการอภิปรายทั้ง 4 คนซึ่งมาจากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ คณะประมง และคณะสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงประสบการณ์ตรงในการทำงานในโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนกับตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ จากภูมิภาคแอฟริกาและจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าไปร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล จัดทำโครงการต่าง ๆ กับประเทศในภูมิภาคแอฟริก ตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากโครงการหนึ่งได้ถูกนำเสนอโดย ดร.สุชาติ อิงธรรมจิตร์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ซึ่งได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศโมซัมบิกและประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา อันเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาทางการเกษตรหลาย ๆ โครงการที่ประเทศไทยได้ร่วมดำเนินการกับประเทศในแอฟริกา โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านเทคนิคการปลูกข้าว และการจัดการระบบการทำประมงขนาดย่อม

อย่างไรก็ดี ข้อมูลและองค์ความรู้เหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกาซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ กลับจำกัดอย่างมากในประเทศไทย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงริเริ่ม KU-AAP ขึ้น เพื่อมาทำหน้าที่ในการเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ

3. KU-AAP จะดำเนิน กิจกรรมในลักษณะใดบ้าง

กิจกรรมและโปรแกรมของ KU-AAP ที่มีการวางแผนและเตรียมการไปแล้วในเบื้องต้น ประกอบไปด้วย
– การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุม หรืองานวิชาการในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอฟริกา-เอเชีย
– การเป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะต่าง ๆ ทั้งด้านวิชาการและวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชีย
– การจัดกิจกรรมด้านการศึกษา โดยอาจจะเริ่มจากเป็นโปรแกรมฤดูร้อน แล้วเชิญวิทยากรจากทั้งในประเทศ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มาให้ความรู้ กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
– พัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแอฟริกา-เอเชีย ในอนาคต
– จัดกิจกรรมฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อย่าง TICA และ IDE-JETRO ให้กับเจ้าหน้าที่จากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา หรือความสัมพันธ์แอฟริกา-เอเชีย เพื่อนำไปปฏิบัติงานจริง