เอสวาตินีปลดแอก: วิกฤตรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสุดท้ายในแอฟริกา

27 08 2021

เอสวาตินี หรือที่เมื่อก่อนมีชื่อว่าสวาซิแลนด์ ประเทศขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตอนใต้ มีพื้นที่ติดกับประเทศแอฟริกาใต้และโมซัมบิก เอสวาตินีเป็นเพียงประเทศเดียวในแอฟริกาที่ยังคงมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 (King Mswati III) เป็นประมุขสูงสุด แต่ระบอบกษัตริย์ที่เหลือรอดไม่กี่แห่งในแอฟริกานี้กำลังเผชิญความท้าทายจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้นที่เอสวาตินี? แล้ววิกฤตการเมืองประทุขึ้นได้อย่างไร?
​การประท้วงครั้งล่าสุดมีตั้งแต่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มต้นจากกรณีการฆาตรกรรม Thabani Nkomonye นักศึกษาชายวัย 25 ปี สังคมตั้งข้อสงสัยว่านั่นเป็นฝีมือของตำรวจที่กระทำเกินกว่าเหตุ แต่ทางตำรวจนิ่งเฉยที่จะหาคำตอบซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อสังคม กลุ่มประชาชนจึงออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมแก่นาย Thabani และพยายามร้องขอต่อกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ให้ดำเนินการสืบหาผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง ผลลัพธ์กลับจุดระเบิดความแค้นในหมู่ประชาชนเมื่อคำร้องดังกล่าวถูกปัดตก การเรียกร้องบานปลายสู่การประท้วงระบอบกษัตริย์โดยต้องการให้ลดพระราชอำนาจลงพร้อมกับปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย กลุ่มผู้ประท้วงได้ก่อเหตุจราจรทั่วเมืองใหญ่แม้รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว เกิดการเผาทำลายร้านค้าและขโมยทรัพย์สินมากมาย ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงทันทีด้วยแก๊สน้ำตา, กระสุนยางและรถฉีดน้ำระดมยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม การปราบปรามดำเนินไปอย่างรุนแรงส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายสิบชีวิตและถูกตำรวจจับกุมมากถึงหลายร้อยคนซึ่งจำนวนจะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไป ส่วนกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 นอกจากจะไม่สนใจข้อเรียกร้องแล้วซ้ำร้ายยังกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็น “พวกซาตานที่ฉุดรั้งประเทศถอยหลัง” ล่าสุดทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติลงได้
​ปัญหาการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเอสวาตินี การเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเนื่องจากประเทศถูกเหนี่ยวรั้งจากอุปสรรคดังนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เด่นชัดมากที่สุดของเอสวาตินี ประชากรสัดส่วนสองในสามอยู่ในสถานะยากจน แรงงานส่วนมากมีรายได้เฉลี่ยเพียง 180 บาทต่อวัน การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้อัตราการว่างงานของชาวสวาซิสูงขึ้นถึงร้อยละ 23.4 ภาพความแร้นแค้นของประชาชนต่างกับความมั่งคั่งของราชวงศ์ เศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำโดยกองทุนส่วนพระมหากษัตริย์ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงตกอยู่กับชนชั้นนำ ต่อมาปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำเป็นผลมาจากระบอบที่ผูกขาดอำนาจการปกครองไว้ที่พระมหากษัตริย์ ชาวสวาซีมีสิทธิในการผู้แทนของตนน้อยมากเพราะนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาส่วนใหญ่ถูกแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ มีสมาชิกเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองอีกด้วย ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงความต้องการตามกระบวนการประชาธิปไตย สุดท้ายอุปสรรคการเมืองกับเศรษฐกิจก็นำพาสังคมสู่ความวุ่นวายที่ไม่รู้จบ
​สถานการณ์การเมืองจะยังคงร้อนระอุตราบเท่าที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไม่ได้รับการตอบสนอง พวกเราต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งแอฟริกาจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ประท้วงจะหาจุดร่วมประนีประนอมหรือไม่ หรือว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในประเทศเอสวาตินี

เขียนโดย นายณัฐนนท์ เกิดประกอบ
ที่มา
กระทรวงการต่างประเทศ. (2555). ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์. สืบค้นจาก https://www.mfa.go.th/th/
content/5d5bcc1e15e39c306000a072?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870.
King of eSwatini appoints new PM as anti-monarchy protests flare. (2021). Retrieved from https://www.aljazeera.com/…/eswatini-king-appoints-new….
Laterza, Vito. (2021). Can eSwatini’s monarchy recover from the ongoing crisis?. Retrieved from https://www.aljazeera.com/…/can-eswatinis-monarchy….
Marima, Tendai. (2021). Pro-Democracy Protests Continue In Eswatini, Africa’s Last Absolute Monarchy. Retrieved from https://www.npr.org/…/pro-democracy-protests-continue….
World Bank. (2021). Unemployment, total (% of total labor force) (modeled ILO estimate). Retrieved from https://data.worldbank.org/indicator/SL.UEM.TOTL.ZS.

#KUAAPสตอรี่