Background

ความริเริ่มในการจัดตั้ง KU-AAP นั้น เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2018 ในการประชุมวิชาการแอฟริกา-เอเชีย ณ กรุงดาร์ เอส ซาลาม สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ซึ่งได้มีการจัดวงอภิปรายทางวิชาการ (panel discussion) ในหัวข้อ ‘Three Decades of Thai-African Relations through Agricultural Exchange Programme: Towards Sustainable Development’ หรือ ‘สามทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา ผ่านโปรแกรมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยผู้ที่เข้าร่วมการอภิปรายทั้ง 4 คนซึ่งมาจากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ คณะประมง และคณะสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงประสบการณ์ตรงในการทำงานในโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนกับตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ จากภูมิภาคแอฟริกา โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการพัฒนาหลายต่อหลายโครงการกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา โดยหน่วยงานผู้ให้ทุนหลักก็คือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากโครงการหนึ่งได้ถูกนำเสนอโดย ดร.สุชาติ อิงธรรมจิตร์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ซึ่งได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศโมซัมบิกและประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา อันเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาทางการเกษตรหลาย ๆ โครงการที่ประเทศไทยได้ร่วมดำเนินการกับประเทศในแอฟริกา โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านเทคนิคการปลูกข้าว และการจัดการระบบการทำประมงขนาดย่อม

ผลจากการประชุมที่ดาร์-เอส-ซาลาม ทำให้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ University of Zambia และ International Institute for Asian Studies (IIAS) แห่ง Leiden University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันจัดวงอภิปรายในหัวข้อ ‘Southeast Asian-African Connections and Parallels: An Alternative Platform of Knowledge Sharing’ ในการประชุมนานาชาตินักวิชาการเอเชียครั้งที่ 11 หรือ ICAS-11 (International Convention of Asia Scholars 11) ที่เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเนื้อหาในการอภิปรายได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของทั้งสองภูมิภาค ความเชื่อมต่อ ความเหมือน ความแตกต่าง และการสร้างเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดช่องว่างระหว่างแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเสวนาโต๊ะกลมที่กรุงดาร์-เอส-ซาลาม

KU-AAP during meeting

จากข้อสรุปที่ได้ในการประชุมทั้งสองครั้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เริ่มดำเนินการสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของสองภูมิภาคดังกล่าวในนาม KU-AAP เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยเพื่อสนับสนุนนักวิจัยและนักวิชาการที่สนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง หรือการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ KU-AAP ยังต้องการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างสองภูมิภาคทั้งในแง่ของการเรียนการสอน เนื้อหารายวิชา และการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแอฟริกา-เอเชีย ที่เปิดสอนให้กับนิสิตนักศึกษาในอนาคต

หลังจากที่กำหนดพันธกิจในภาพรวมของโครงการฯ แล้ว ทางคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมย่อยเพื่อระดมสมอง ที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ระหว่างตัวแทนจากองค์กรพันธมิตรของ KU-AAP อันได้แก่ International Institute for Asian Studies (IIAS), University of Ghana, University of Zambia, Université Gaston Berger ประเทศเซเนกัล, University of Dar es Salaam ประเทศแทนซาเนีย และ Singapore University of Social Sciences ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าว คือการเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายที่จะทำให้ KU-AAP เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นการศึกษาในเชิงสหสาขาวิชา การวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดย KU-AAP คือโครงการแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการนำเสนอมุมมองใหม่ในความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศโลกใต้ และเป็นเวทีไม่จำกัดเฉพาะการผลิตองค์ความรู้ และการวิเคราะห์ ถกเถียงในประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในสองภูมิภาคเท่านั้น แต่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชีย ที่ทันสมัยเพื่อให้บริการแก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ KU-AAP ยังเป็นพื้นที่ที่ประสานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการพัฒนาด้านการเกษตรที่ทางมหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมมือกับทางภาครัฐมายาวนาน ให้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ครบถ้วนทั้งเชิงเทคนิค และเชิงสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือผู้รับผิดชอบหลักของ KU-AAP และในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการดังกล่าว การดำเนินงานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอันประกอบไปด้วย คณบดีคณะสังคมศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ตลอดจนบุคลากรของคณะสังคมศาสตร์อื่น ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้ง นอกจากนี้ KU-AAP ยังมีคณะที่ปรึกษาจากภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกามาอย่างยาวนาน อันได้แก่ ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ IIAS และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (IDE-JETRO) โครงการที่ริเริ่มขึ้นมานี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และพยายามดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชียให้กับสาธารณชน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้กิจกรรมบางอย่างจำเป็นต้องเลื่อนออกไป สำหรับแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีแรกนี้ ทาง KU-AAP จะเริ่มดำเนินการลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MoU (Memorandum of Understanding) กับองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแอฟริกา ควบคู่ไปกับการก่อสร้างพื้นที่ทางกายภาพ การจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการ ตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการในอนาคตต่อไป

KU-AAP during meeting