การ (ไม่) เปลี่ยนผ่านทางการเมืองในแอฟริกาตะวันตก

14 03 2022

ในศตวรรษที่ 21 สถิติของการทำรัฐประหารในโลกเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 26 ครั้ง (เฉลี่ยแล้วปีละ 1.2 ครั้ง) โดยในจำนวนนี้ เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาทั้งหมด 16 ครั้ง และในจำนวน 16 ครั้งนี้ พบว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นในแอฟริกาตะวันตกเป็นจำนวนมากที่สุดคือ 11 ครั้ง (ไม่นับความพยายามจะทำรัฐประหารที่ล้มเหลวอีกเป็นจำนวนมาก) ซึ่งอาจเรียงลำดับการทำรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว คือประเทศ Guinea-Bissau ในปี 2003 ประเทศ Togo ในปี 2004 ประเทศ Mauritania (ครั้งที่ 1) ในปี 2005 ประเทศ Mauritania (ครั้งที่ 2) ในปี 2008 ประเทศ Niger ในปี 2010 ประเทศ Mali (ครั้งที่ 1) ในปี 2012 ประเทศ Mali (ครั้งที่ 2) ปี 2020 ประเทศ Mali (ครั้งที่ 3) ในปี 2021 ประเทศ Guinea และประเทศ Chad ในปี 2021 และล่าสุดคือประเทศ Burkina Faso ในปี 2022

พบว่าแค่เพียงช่วงสามปีที่ผ่านมา (2020-2022) มีการรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกไปแล้ว 4 ครั้งใน 3 ประเทศ โดยในบางกรณี เช่น ประเทศ Mali และ Burkina Faso การรัฐประหารเกิดขึ้นจัดเป็นประเทศที่พยายามใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมืองภายในมาโดยตลอด แต่ในบางกรณีรัฐประหารกลับเกิดขึ้นแม้แต่ในประเทศที่ดูเหมือนว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยทำท่าจะตั้งมั่น (consolidate) แล้วก็ตาม เช่นในกรณี Guinea ในปีปลายปีที่ผ่านมา เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้??? และเราพอจะสามารถสร้างตัวแบบของการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนี้ได้หรือไม่? นี่คือหนึ่งในคำถามที่คณะผู้วิจัยในโครงการวิจัย “การศึกษาสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและนัยที่มีต่อประเทศไทย” พยายามค้นหาคำตอบ

โดยในส่วนการประเมินความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ผู้วิจัยพบว่า ในด้านหนึ่งปรากฏการณ์อย่างใหม่ร่วมกันประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับการรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 21 คือการที่ผู้ทำรัฐประหารไม่อาจดำรงอยู่ในตำแหน่งหรือครองอำนาจได้เป็นเวลานานด้วยความชอบธรรมอย่างเดิมอีกต่อไป แต่จำเป็นจะต้องรีบผ่องถ่ายอำนาจหรือร่างรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วเพื่อลดแรงกดดันจากประชาชน ประชาสังคม และประชาคมระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้การครองอำนาจอยู่ภายหลังการรัฐประหารและก่อนมีการเลือกตั้งใหม่นั้นมีระยะเวลาที่สั้นลงเรื่อย ๆ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้วิจัยก็พยายามย้อนกลับไปตั้งคำถามที่ต้นเหตุว่า เหตุใดการทำรัฐประหารจึงยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งอยู่เสมอของตัวแสดงอย่างกองทัพและชนชั้นนำทางการเมืองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ในส่วนนี้ ผู้วิจัยเสนอเห็นว่าเราควรต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า “ข้ออ้าง” ที่กลายเป็นสาเหตุหลักของความชอบธรรมในการทำรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนี้ ล้วนวางอยู่บนคำอธิบายแบบ “ปมกอร์เดียน” (Gordian knot)*** กล่าวคือ รัฐประหารในภูมิภาคนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ หากผู้กระทำรัฐประหารชี้ให้เห็นถึง “ความผิดปรกติ” หรือเงื่อนปมที่เป็นทางตันทางการเมืองบางอย่างที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกลไกของสถาบันการเมืองแบบปรกติ อันเป็นแหล่งที่มาของ “ความจำเป็น” ที่จะต้องใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือในการสลายปมกอร์เดียนดังกล่าวให้สะบั้นลงเพื่อที่บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในทางกลับกัน ย่อมเท่ากับว่าการทำรัฐประหารในภูมิภาคนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ หากผู้นำรัฐประหารรู้จักมองหาหรือแม้แต่เรียนรู้ที่จะ “ผูก” ปมกอร์เดียนดังกล่าวขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ดี การสร้างภาพพจน์ของปมกอร์เดียนเพื่อรองรับการทำรัฐประหารที่ว่านี้ อาจมีทั้งภาพของปมที่ผูกขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ขบวนการก่อการร้าย และกลุ่มก่อความไม่สงบติดอาวุธจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังกรณีของประเทศ Burkina Faso ล่าสุด และปมที่ผูกขึ้นจากปัจจัยภายใน เช่น ความอ่อนแอไร้ความสามารถของตัวประธานาธิบดี การที่ประธานาธิบดีถูกลอบสังหารและเกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือจากทั้งสองปัจจัย (ภายนอก/ภายใน) ประกอบกัน และในบางกรณีเราจะพบว่าปมกอร์เดียนนี้อาจเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศที่เริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่หยั่งราก (consolidated democracy) แล้ว เช่นกรณีประเทศ Guinea ในปีที่แล้ว โดยปมกอร์เดียนที่ถูกผูกขึ้นในกรณีของประเทศแบบหลังนี้ คือปมที่เกิดจากปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตยใหม่ของทวีปแอฟริกาตะวันตก ซึ่งผู้วิจัเรียกว่าปัญหา “การขออยู่ต่อเป็นวาระที่สาม” (third term bids) ของตัวประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องในหลายประเทศของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ที่เมื่ออยู่จนครบวาระ (2 สมัย) แล้วก็พยายามหาช่องทางในการดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ 3 ซึ่งทุกกรณีนั้นมีจุดร่วมประการหนึ่งคือนำกลไกของระบอบประชาธิปไตยมารับรองการสืบทอดอำนาจของประธานาธิบดีที่อยู่จนครบวาระแล้ว เช่น ใช้กลไกรัฐสภา หรือใช้มติมหาชนที่แสดงออกผ่านกลไกประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญซึ่งมีทั้งกรณีที่ดำเนินการด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ไปจนถึงการใช้กลไกตุลาการรับรองการดำรงตำแหน่งต่อของตัวประธานาธิบดี

การทำรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก จึงเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ภายใต้พื้นน้ำยังแฝงไว้ด้วยปัญหาอื่น ๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในระบอบประชาธิปไตยใหม่ของแอฟริกาตะวันตกเองที่เป็นเงื่อนไขให้กองทัพและผู้นำทหารนำมาใช้ในการผูกปมกอร์เดียนขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนคำถามเรื่องการหาทางออกหรือก้าวออกจากวังวนของการทำรัฐประหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนี้ ก็ดูจะเป็นคำถามที่สร้างปมกอร์เดียนใหม่ขึ้นมาอีกปมหนึ่งซึ่งเหลือกำลังและอยู่พ้นวิสัยของวัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ที่จะตอบหรือเสนอแนะทางออก แต่ผู้วิจัยก็หวังใจเหลือเกินว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกจะค่อย ๆ “ไขปมไม่เห็นปลาย” นี้ออกได้ในที่สุด โดยที่ไม่ต้องอาศัยดาบจากตัวแสดงภายนอกทั้งในระดับโลกและภูมิภาคมาทำหน้าที่ตัดปมดังกล่าวให้แทน
***ปมกอร์เดียน หมายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ทรงตัดสินพระทัยแก้ปมเชือกกอร์เดียนที่ว่ากันว่าไม่สามารถมีใครคลายออกได้ ด้วยการใช้พระแสงดาบตัดปมดังกล่าวออก